จังหวัดปัตตานี

Image

ข้อมูลทั่วไป

จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลานาน เนื่องด้วยความเหมาะสมของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะทำเลที่ตั้งที่ติดทะเล มีอ่าวที่สามารถกำบังคลื่นลมและเป็นที่พักจอดเรือ จึงเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าและนักเดินเรือจากโลกตะวันตกและตะวันออกประกอบกับจังหวัดปัตตานีมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น สินแร่ เครื่องเทศ ของป่า และพืชพรรณธัญญาหารอื่น ๆ สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับเมืองท่าอื่น ๆ บนคาบสมุทรมลายูและภูมิภาคใกล้เคียง โดยเป็นที่รู้จักในนามอาณาจักรลังกาสุกะ หรือหลังหยาซูว ซึ่งปรากฏในเอกสารจีนมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือประมาณเกือบ 2,000 ปีที่ผ่านมา ระหว่างพุทธศตวรรษ 12-16 ศูนย์กลางการปกครองของลังกาสุกะอยู่บริเวณเมืองโบราณยะรัง โดยมีเมืองโกตามหลิฆัยเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครอง มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ดังปรากฏร่องรอยฐานเจดีย์ในพุทธศาสนาจำนวนมากกว่า 30 แห่ง ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรจนมาถึงพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 ปรากฏเมืองท่าแห่งใหม่ชื่อ ปะตานีมีเรือสินค้าจากชาติต่าง ๆ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ สเปน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ชวา อาหรับ และเปอร์เซีย ฯลฯ มาจอดแวะพักและทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับอาณาจักรลังกาสุกะเริ่มเสื่อมลง ชายฝั่งทะเลตื้นเขินแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่จึงย้ายมาอยู่ที่ปะตานี(ต่อมาเรียก ปาตานีและ ปัตตานีในที่สุด) ในเวลานั้นปัตตานีเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่สำคัญของภูมิภาคนี้ และเป็นที่รู้จักในชื่อ “ปาตานีดารุสลาม” จนได้รับการเรียกขานกันว่า “ระเบียงเมกกะ”ต่อมาในปี พ.ศ. 2351 ปัตตานี แบ่งการปกครองออกเป็น 7 หัวเมือง ได้แก่ เมืองตานี ยะหริ่งหนองจิก สายบุรี ระแงะ รามันห์ และยะลา ในปี พ.ศ.2388 ศูนย์กลางการปกครองของเมืองปัตตานีย้ายมาอยู่ที่จะบังติกอติดกับแม่น้ำปัตตานีในปัจจุบัน ส่วนศูนย์กลางการค้าในระยะแรกอยู่ใกล้ปากแม่น้ำบริเวณหัวตลาดเป็นย่านชาวจีนหรือไชน่าทาวน์ในสมัยนั้น เมืองปัตตานีแห่งใหม่จึงเจริญเติบโตสืบต่อมากระทั่งบัดนี้ สำหรับหัวเมืองอื่นสมัยเดียวกัน ได้แก่ สายบุรี หนองจิก และยะหริ่ง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ระแงะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส และรามันห์ (ปัจจุบันใช้ชื่อรามัน) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ทางตอนล่างของประเทศไทย เป็นจังหวัดเดียวในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนที่ไม่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,055 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ1,940.35 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,212,723 ไร่

จังหวัดปัตตานีมีการปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็นระดับอำเภอ จำนวน 12 อำเภอ ระดับตำบล จำนวน 115 ตำบล และระดับหมู่บ้าน จำนวน 642 หมู่บ้าน

สถานที่ท่องเที่ยวแนะนำ

1.มัสยิดกลางปัตตานี

สถานที่แลนด์มาร์คที่สำคัญ มัสยิดกลางปัตตานี ที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีความโดดเด่น และยังเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง รูปทรงภายนอกของมัสยิดมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล เป็นสถานที่เมื่อมาถึงปัตตานีต้องมาชมศิลปะ และความสวยงามของตัวอาคาร มัสยิดแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยงามที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

2.มัสยิดกรือแซะ

เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานี สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง รูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เสาทรงกลมเลียนรูปลักษณะเสา ช่องประตู หน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และโค้งมนแบบโกธิค โดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง

3.ชุมชนเก่าปัตตานี

ย่านเมืองเก่าปัตตานี ซึ่งงดงามด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายแบบหลากสไตล์ ให้ได้เดินทอดน่อง ผ่อนคลายอารมณ์ชมเมืองเก่าที่สวยงามแปลกตาอีกด้วย มาเห็นครั้งแรกต้องบอกว่าอึ้ง เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าปัตตานีจะมีมุมแบบนี้ให้ได้สัมผัสด้วย เมืองเก่าปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนอาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี และเชื่อมโยงกับถนนนาเกลือ บริเวณนี้ คือ ถนนอาเนาะรู ซึ่งมี บรรยากาศคล้ายกับย่านเก่าสงขลา

4.สกายวอลค์ปัตตานี

ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ภายในพื้นที่ของสวนสมเด็จสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือ สวนแม่ ลูก สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของชาวปัตตานี โดยบริเวณทางเข้าสวน ได้จัดทำเป็นเส้นทางเดินลอยฟ้าเหนือป่าชายเลนที่มีความสูง 12 เมตร ประมาณตึก 5 ชั้น สกายวอล์ค แห่งนี้สามารถชมวิวทิวทัศน์แบบพาโนรามา ชมเมืองปัตตานี วิถีชีวิตชาวประมง รวมถึงชมความงดงามของพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกอีกด้วย
สำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ CMGF (CMGF Secretariat Thailand)
สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม อาคารสำนักทรัพยากรการเรียนรู้(LRC) ชั้น10
15 ถนนกาญจนวนิชย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110